Steel Price (ราคาเหล็ก)
เหล็กไทย ทำไมแข่ง (ราคา) สู้จีนสู้เวียดนามไม่ได้

เหล็กไทย ทำไมแข่ง (ราคา) สู้จีนสู้เวียดนามไม่ได้

อยากให้ลองดู clip นี้ดูครับ link: https://www.youtube.com/watch?v=wsTR89lkLi8 เป็นบทสนทนาระหว่าง ท่านผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนาชัย และ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ประกอบไปด้วยครับ

อันดับแรก: หลัก demand – supply

ประเด็นนี้ตรงไปตรงมา เป็นหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน อุปสงค์ – อุปทาน และ P-Q หรือ ปริมาณ-ราคา

  • ผลิตเยอะ supply มาก ถ้า ความต้องการ demand เท่าเดิม ราคาก็ลด ถ้า demand มาก ล้อไปกับ supply ก็ equilibrium ราคาคงที่
  • ผลิตน้อย supply ลด ความต้องการ demand เท่าเดิม ราคาก็เพิ่มขึ้น นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้ง OPEC จึงประกาศลดอัตราการผลิตน้ำมันลง เพื่อรักษาระดับราคา

อันดับที่สอง: Iron making vs. Steel making

บางท่านอาจไม่ทราบว่า ไทย ไม่มีโรงถลุงเหล็ก (เหล็กต้นน้ำ Iron making: วัตถุดิบ = สินแร่เหล็ก) มีแต่เพียงโรงผลิตเหล็กจากเตาหลอม (Steel making: วัตถุดิบ = เศษเหล็ก) ในขณะที่จีนกับเวียดนามมีโรงถลุง ดังนั้น ต้นทุนการผลิตของประเทศที่มีเหล็กต้นน้ำ ย่อมต่ำกว่าประเทศที่ไม่มี และทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่า Iron making หรือ Steel making สิ่งที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักคือ “พลังงาน” = ค่าไฟ

อันดับที่สาม: Iron making production is continuous!

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า โรงถลุง ที่ถลุงเหล็กด้วยเตาหลอมทรงสูงที่เรียกว่า blast furnace นั้น มันต้องทำต่อเนื่อง ปิดเตาไม่ได้ เพราะจะจุดเตาให้ติดใหม่อีกรอบจะใช้พลังงานสูงมาก และกินระยะเวลาที่ยาวนาน เสถียรภาพของโรงถลุงจึงหล่อเลี้ยงด้วยระดับ demand โดยเฉพาะอย่างยิ่ง domestic demand หรือ ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ และเมื่อในประเทศ demand ลด (เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ NPL สูง เงินเฟ้อ เกิด default ของหุ้นกู้บริษัทอสังหาฯ หรือภาครัฐออกมาตรการทางการเงิน เช่น ขึ้นอัตราดอกเบี้ย กู้เงินต้นทุนสูง เป็นต้น) ทางออกของโรงถลุงที่พอจะทำได้ คือ “ลดอัตราการผลิต” ลง

อันดับที่สี่: อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ

หลายประเทศ มีการกำหนดอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในหลายประเทศ ด้วยเหล็กเป็นวัสดุพื้นฐานในการรักษาเสถียรภาพของประเทศ “อาวุธสงคราม” “รถยนต์” “ต่อเรือ” เป็นต้น ซึ่งหากเป็นประเทศหนึ่งๆ กำหนดให้เหล็กเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ สิ่งที่ตามมาคือ การสนับสนุนจากรัฐ เช่น อัตราค่าไฟที่พิเศษ อัตราภาษีที่พิเศษ คือพยายามลดระดับต้นทุนให้ต่ำลงมากที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เดินต่อได้ หลายประเทศกำหนดอุตสาหกรรมเกษตรและกสิกรรม เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน รัฐก็อุดหนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เป็นต้น

อันดับที่ห้า: ความรู้และประสบการณ์

ยิ่งทำอะไรมากก็ยิ่งเก่งยิ่งชำนาญ ศึกษาวิจัยอะไรมากก็มีองค์ความรู้มากขึ้น หลายประเทศได้พัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเหล็กในงานก่อสร้าง รู้จักวัสดุเป็นอย่างดี รู้วิธีการออกแบบที่ลึกซึ้ง ออกแบบได้อย่างประหยัดแต่คงทนและปลอดภัย รู้วิธีการทำดีเทลที่ ผลิตแปรรูปง่าย ติดตั้งง่าย ต้นทุนไม่สูง และยิ่งเก่งก็ยิ่งเก่งขึ้น ลดน้ำหนัก ลดเวลา อันส่งผลต่อการลดต้นทุนได้มากขึ้น

เอาปัจจัย 1-5 มารวมกัน (นึกภาพ)

ประเทศจีน หลายท่านทราบดีว่าเกิดปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ Evergreen บริษัทขนาดใหญ่ ผิดนัดชำระหนี้ กำลังซื้อของประชาชนชะลอตัวหลังโควิด แต่เหล็กในจีนผลิตมาอย่างต่อเนื่อง (หยุดไม่ได้) แต่การใช้ลดลงมากเพราะ demand ในจีนหายวับไป แต่ supply ไม่หาย (แต่ลด) จะเกิดอะไรขึ้นหากสินค้าที่ผลิตออกมา “ล้นสต๊อค” ผลิตแล้วขายในประเทศไม่มีคนซื้อ

+

Geopolitics ระหว่างประเทศ ยูเครน-รัสเซีย อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ต่อไปยังอิหร่าน ส่งผลให้ ค่าพลังงานสูงขึ้น >>> ค่าไฟในประเทศไทย สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเหล็กในประเทศสูงขึ้น ซึ่งต่างจากบางประเทศที่เหล็กเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ที่รัฐ “อุ้ม” ปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่าไฟ” และอุดหนุนอัตราภาษี เช่น เคยมีการ rebate เหล็กที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ทั้งหมดที่เห็นนะครับ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่พอจะตอบคำถามได้ว่า ทำไมเหล็กไทย อาคารโครงสร้างเหล็กของไทย ถึงแพงกว่า สินค้านำเข้า เหตุมันส่งผลต่อปัจจัยที่เราพบในทุกวันนี้

ยังไงต่อ …

ประเด็นนี้อยากให้นึกถึงห่วงโซ่อุปทาน supply chain โดยรวมนิดครับ จากเหล็กต้นน้ำ -> เหล็กแผ่น -> ท่อเหล็ก/เหล็กรางน้ำ -> fabricated steel members -> อาคารเหล็ก สะพานเหล็ก

แน่นอนว่า ผู้ผลิตเหล็กแผ่นย่อมอยากขายแพงต้นทุนต่ำเพื่อให้ได้กำไรมาก

แต่ก็แน่นอนว่า ผู้ผลิตท่อเหล็ก หรือเหล็กรางน้ำ ย่อมอยากได้เหล็กแผ่นราคาต่ำ และขายได้ในราคาสูง

แล้วก็แน่นอนอีกเช่นกัน ที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ย่อมอยากได้ fabricated steel ราคาต่ำ และขายอาคาร หรือสะพานได้ในราคาสูง

ไม่น่าแปลกใจว่า ผู้ผลิตท่อเหล็กอยากให้เกิดการค้าเสรีเหล็กแผ่น

ไม่น่าแปลกใจว่า fabricator ต้องอยากให้เกิดการค้าเสรีเหล็กทุกประเภท

ไม่น่าแปลกใจว่า contractor ย่อมอยากให้เกิดการค้าเสรี fabricated steel

แล้วก็ไม่น่าแปลกใจว่า owner ย่อมอยากให้มี contractor จากต่างประเทศมาร่วมแข่งขัน

แต่ในมุมกลับกัน ท่อเหล็กก็ไม่อยากให้เกิดเสรีท่อเหล็ก (เพราะแข่งกับ import ไม่ไหว)

แล้วก็เช่นเดียวกันกับ fabricator หรือ contractor ก็ไม่อยากให้เกิดเสรี ผู้รับเหมาจากต่างประเทศ

แล้วก็เช่นเดียวกันกับ “วิศวกร” อย่างเราๆ ที่เราก็ไม่อยากให้เกิดเสรี วิศวกรจากต่างประเทศ เพิ่มคู่แข่งเข้ามา

ทั้งนี้และทั้งนั้น ทุก node ของ supply chain ต้องไม่ลืมว่า “เรา” (หมายถึงแต่ละ node) จะ “หยุดการพัฒนาไม่ได้” ทั้งในแง่ของ productivity และ innovation … ย้อนมาในมุมวิศวกรผู้ออกแบบ คำถามที่น่าจะตั้งให้แต่ละท่านตอบคือ

  • ณ ตอนนี้ ท่านทำงานแล้วได้งาน เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ ดีแล้วหรือยัง (ถูกต้องแล้ว ประหยัดแล้ว และรวดเร็ว)
  • ณ ตอนนี้ ท่านมีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ แล้วหรือยัง

เพราะทั้ง productivity และ innovation มันเป็นเสมือน คูคลอง (moat) ที่ช่วยปกป้องประตูเมือง กั้นข้าศึกไม่ให้ตี “เรา” ได้

“เรา” อาจจะเฉพาะตัวเราคนเดียว

“เรา” อาจจะมองไปถึงวงการวิศวกรรมไทย

“เรา” อาจจะมองไปถึง อุตสาหกรรมเหล็กอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย

หรือไปสุดขอบที่ “ประเทศไทยของเรา”

ไม่แน่ใจเป็นคำตอบไหมนะครับ แต่อยากฝากไว้ประมาณนี้





Spread the love

Leave a Reply