Prestressed Concrete (คอนกรีตอัดแรง)
การเปรียบเทียบ ราคาพื้น Post Tension ระหว่างการใช้เสาเหล็กและเสาคอนกรีต

การเปรียบเทียบ ราคาพื้น Post Tension ระหว่างการใช้เสาเหล็กและเสาคอนกรีต

สำหรับเนื้อหาในหัวข้อนี้ ก็ตรงตามหัวข้อเลยครับ คือ เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ราคาพื้น post tension หากจะสามารถเปลี่ยนจากเสาคอนกรีต ไปเป็นเสาเหล็ก ได้นั่นเองครับ

จากตอนที่ 4 – เรื่อง เปรียบเทียบกำลังรับน้ำหนักของเสาเหล็ก HSS และเสาคอนกรีตเราก็ได้เห็นกันแล้วนะครับว่า หากต้องการออกแบบให้กำลังรับน้ำหนักของเสาคอนกรีต มีกำลังรับแรงอัด (axial compression) ได้เทียบเท่ากับเสาเหล็ก HSS แล้ว เสาคอนกรีตจะต้องมีขนาดที่ใหญ่กว่าประมาณ 47% (โดยคิดเทียบกันที่ขนาดของพื้นที่หน้าตัด)

กล่าวคือ เสาเหล็ก HSS ขนาด 200 x 200 x 6 mm. เกรด SS400 ยาว 2.50 m. รับน้ำหนักได้ 95 ตัน (พื้นที่หน้าตัด = 400 cm2 พิจารณาแบบเป็นหน้าตัดเต็ม) ส่วนเสาคอนกรีตจะต้องมีขนาดหน้าตัดเท่ากับ 27.5 x 27.5 cm. และเสริมเหล็ก DB12 จำนวน 6 เส้น ถึงจะมีกำลังรับน้ำหนักได้ประมาณ 100 ตัน ครับ (พิจารณาว่ากำลังรับน้ำหนัก มีค่าเท่าๆ กัน ระหว่างเสาเหล็กและเสาคอนกรีต)

ทีนี้ หากลองถอดปริมาณของเสาทั้ง 2 แบบ ออกมา และลองมาคิดราคาเปรียบเทียบกันดูว่า เสาแบบไหนแพงกว่ากัน และทำให้ราคาการก่อสร้างของทั้งโครงการเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ ก็น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนะคับ

กำลังรับแรงอัดของเสาเหล็ก HSS

โครงสร้างราคาของงานก่อสร้าง

อย่างแรกเลย เรามาคุยกันถึงเรื่องของโครงสร้างราคาในงานก่อสร้างอาคารกันก่อนนะครับ ซึ่งก็ต้องขอออกตัวก่อนว่า ตัวเลขที่กำลังจะนำเสนอนี้ เป็นตัวเลขที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัว รวมกับการสอบถามจากผู้ที่มีประสบการณ์ในงานก่อสร้างครับ จะว่าไป มันก็คล้ายๆ กับ magic number นั่นเอง

หากเราลองแบ่งโครงสร้างราคางานก่อสร้าง ออกเป็นดังนี้

1. งานโครงสร้าง (33.33%) แบ่งออกเป็น

    • โครงสร้างเหนือดิน (26.40%) – เสา คาน และพื้นโครงสร้าง โดยพิจารณาว่า คานและพื้น คิดเป็นปริมาณงานประมาณ 18.48% และเสาโครงสร้างคิดเป็นประมาณ 7.92%
    • โครงสร้างใต้ดิน (6.60%) – งานฐานราก (รวมเสาตอม่อ) คิดเป็น 6.60%

2. งานระบบ (33.33%) – พิจารณางานในกลุ่ม ระบบสุขาภิบาล, ระบบไฟฟ้า, ระบบไฟฟ้าสื่อสาร, ระบบปรับอากาศ และ/หรือ อาจรวมระบบเครื่องกลต่างๆ ถ้าจะพูดให้ง่าย ก็คือ MEP (mechanical, electrical & plumbing) น่าจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งงานส่วนนี้ ก็ถือว่าทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในระดับที่ค่อนข้างสูงพอสมควร

3. งานสถาปัตยกรรม (33.33%) – งานส่วนนี้ เป็นงานที่เกี่ยวกับความสวยงามของอาคารทั้งหมด ซึ่งโดยทั่วไปราคาของงานด้านสถาปัตยกรรมของงานอาคาร สามารถตีคร่าวๆ ออกมาได้ประมาณ 33% (เทียบกับราคาค่าก่อสร้างทั้งโครงการ) โดยปกติ ก็จะพิจารณาส่วนงานสถาปัตฯ นี้จากงานที่ไม่ได้เป็นส่วนของโครงสร้างที่ต้องรับแรง เช่น งานก่ออิฐ ฉาบปูน งาน finishing ต่างๆ (งานปูกระเบื้องพื้นและผนัง) งานฝ้าเพดาน และอื่นๆ

แต่ทั้งนี้โครงสร้างราคาอาจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของ owner ว่าต้องการความสวยงามเพียงใด อยากได้วัสดุแบบไหน ซึ่งก็จะไปส่งผลต่อโครงสร้างราคาโดยรวม

โครงสร้างราคางานก่อสร้างอาคาร

การคิดราคาเสาเหล็ก HSS และเสาคอนกรีต

เสาเหล็ก HSS โดยปกติแล้ว หากใครที่เคยซื้อเหล็กไปใช้ในงานก่อสร้าง ก็น่าจะคุ้นเคยวิธีการคิดราคาของร้านขายวัสดุก่อสร้างกันดีนะครับ ซึ่งวัสดุที่เป็นเหล็กนี้ เราซื้อ-ขายกัน โดยคิดจากน้ำหนักของวัสดุเป็นหลัก เช่น 40 บาท/กก.

ดังนั้นแล้ว หากจะคิดราคาของเสาเหล็ก HSS ขนาดหน้าตัด 200 x 200 x 6 mm. สามารถไปเปิดดูน้ำหนักได้จาก มอก.107 (เหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง) ซึ่งจากตารางจะพบว่า เสาเหล็ก HSS ขนาดดังกล่าวมีน้ำหนักอยู่ที่ 35.8 กก/ม.

พอได้ค่าน้ำหนัก เราก็สามารถนำมาคิดราคาของเสาเหล็ก HSS ต่อต้นได้ โดยสมมติว่าเสาต้นนี้ยาว 2.50 m.(อย่างที่ได้พูดถึงตั้งแต่โพสต์ก่อนหน้านี้ และในเนื้อหาด้านบน) และสมมติเหล็กมีราคาอยู่ที่ 40 บาท/กก. (รวมค่าแรงติดตั้ง) ดังนั้นเสาต้นนี้มีราคาอยู่ที่ 3,580 บาท

ราคาเสาเหล็กกล่อง (HSS)

เสาคอนกรีต การถอดปริมาณเสาคอนกรีต ขอคิดแยกเป็น ดังนี้ นะครับ

  • ค่าคอนกรีต – เสาคอนกรีตขนาด 27.5 x 27.5 ซม. ยาว 2.50 m. มีปริมาตรเท่ากับ 0.19 m3 ราคาของคอนกรีตประมาณ 2,000 บาท/ม3 ดังนั้นราคาคอนกรีตสำหรับเสา 1 ต้น เท่ากับ 380 บาท
  • ค่าเหล็กข้ออ้อย (DB12) – ใช้สำหรับทำเป็นเหล็กยืน จำนวน 6 เส้น ยาว 2.50 เมตร เผื่อความยาวการดัดงออีก 10% และราคาเหล็กข้ออ้อยประมาณ 20.8 บาท/กก.จะได้ว่าต้องใช้เหล็กยืนทั้งหมดประมาณ 14.65 กก. คิดเป็นราคาเท่ากับ 305 บาท
  • เหล็กเส้นกลม (RB6) – ใช้สำหรับทำเป็นเหล็กปลอกทุกระยะ 15 cm. จำนวน 17 ปลอก ความยาว (เผื่อความยาวการดัดงออีก 5% ) 0.7 m./ปลอก ราคาอยู่ที่ประมาณ 22.4 บาท/กก. ดังนั้นจะได้ว่าเหล็กปลอกทั้งหมดที่ใช้มีน้ำหนักเท่ากับ 3.37 กก. เป็นราคาประมาณ 60 บาท
  • ค่าแรง – โดยปกติแล้วคิดอยู่ที่ประมาณ 30 – 50% ของราคาวัสดุรวม >> ราคาวัสดุรวมของเสาคอนกรีต เท่ากับ 380 + 305 + 60 = 745 บาท คิดค่าแรงที่ 40% ของค่าวัสดุจะดีราคาค่าแรงเท่ากับ 300 บาท (คิดเลขกลมๆ) รวมราคาทั้งสิ้น 1,045 บาท
ราคาของเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก

การเปรียบเทียบราคาและพื้นที่ระหว่างเสาเหล็ก HSS และเสาคอนกรีต

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ราคาของเสาทั้ง 2 แบบแล้ว ก็จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ดังนี้

  • ด้านราคา – จะเห็นว่าเสาเหล็กมีราคาที่แพงกว่าเสาคอนกรีต อย่างที่ทุกท่านเข้าใจกันอย่างแน่นอนครับ โดยหากลองเปรียบเทียบราคาในกรณีตัวอย่างนี้ เสาเหล็ก (3,580 บาท) ส่วนเสาคอนกรีต (1,045 บาท) เสาเหล็กแพงกว่าคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่า หรือมีราคาแตกต่างกัน 2,535 บาท/ต้น
  • ด้านพื้นที่ที่สามารถประหยัดได้ – เสาเหล็กมีหน้าตัดคิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 0.04 m2 ส่วนเสาคอนกรีตมีหน้าตัดคิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 0.076 m2 สรุปได้ว่า เสาเหล็กประหยัดพื้นที่ได้เท่ากับ 0.036 m2
  • ราคาขายของพื้นที่อาคาร – อาคารที่เหมาะกับการใช้ระบบพื้น post-tension ในการก่อสร้าง อย่างที่ได้คุยกันไปในโพสต์ก่อนๆ หากยังจำกันได้ก็คือ อาคารจอดรถ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เป็นต้น โดยที่อาคารเหล่านี้จะคิดราคาขายเป็นพื้นที่ เช่น 100,000 baht/m2 ดังนั้นหากนำพื้นที่ที่ลดลงจากการใช้เสาเหล็ก HSS มาคิดเป็นต้นทุนที่สามารถประหยัดได้ จะได้ว่า 0.036 x 100,000 = 3600 บาท/ต้น
การเปรียบเทียบ ราคาพื้น post tension ระหว่างเสาเหล็กและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก

โดยสรุปแล้ว หากพิจารณาเพียงต้นทุนของค่าวัสดุ + แรงงานแล้ว จะเห็นว่าเสาเหล็กแพงกว่าอย่างชัดเจนในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก

แต่ในทางกลับกัน พื้นที่ที่สามารถประหยัดได้ ก็สามารถสร้างผลกำไรให้กับ developer หรือ project owner ที่ขายอาคารได้ ดังตัวอย่างด้านบน การเปลี่ยนมาใช้เสาเหล็กจะสามารถสร้างรายได้จากการขายประมาณ 3,600 – 2,535 = 1,065 บาท/ต้น ซึ่งเป็นส่วนของกำไรที่ทางเจ้าของโครงการจะได้

และนอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เป็นต้นทุนด้านระยะเวลาในการก่อสร้าง ที่ยังไม่ได้คิด ซึ่งอาคารที่ก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็ก แน่นอนว่าจะสามารถสร้างได้รวดเร็วกว่า ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะทำให้ developer หรือ project owner สามารถเริ่มขายอาคารหรือเปิดใช้บริการได้เร็วกว่าการก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก





Spread the love