PostConnex (นวัตกรรมเสาท่อเหล็กที่มีระบบจุดต่อซ่อนในพื้นคอนกรีต)
PostConnex ™ นวัตกรรมจุดต่อสำหรับพื้นคอนกรีตอัดแรงกับเสาเหล็ก

PostConnex ™ นวัตกรรมจุดต่อสำหรับพื้นคอนกรีตอัดแรงกับเสาเหล็ก

สำหรับโพสต์นี้อยากขอนำเสนอ นวัตกรรมโครงสร้างเหล็ก ที่มีชื่อว่า “PostConnex” ให้กับทุกท่านได้รู้จักกันครับ เผื่อว่าจะมีท่านใดสนใจ การก่อสร้างอาคารด้วยระบบพื้นคอนกรีตอัดแรงรูปแบบใหม่ โดยนวัตกรรมนี้ เป็นนวัตกรรมที่ทางพวกเราได้คิดค้นขึ้นมา ซึ่งเป็นการนำ “เสาเหล็ก” ไปใช้งานร่วมกับพื้น post-tension หรือระบบพื้นอัดแรง

อย่างที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ในโพสต์ก่อนๆ 5 ตอน ที่ได้พูดถึงข้อดีของระบบพื้น post-tension และเสาเหล็ก HSS ไป อีกทั้งยังได้นำเสนอถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากมีการนำทั้ง 2 สิ่งนี้มาผสมผสานกันไปแล้ว (สามารถอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับระบบพื้น post-tension และเสาเหล็ก HSS ได้ทางลิงค์ด้านล่างครับ)

ตอนที่ 1: ระบบพื้น post-tension คืออะไร (อ่าน คลิกเลย)

ตอนที่ 2: ลักษณะการวิบัติของพื้น post tension (อ่าน คลิกเลย)

ตอนที่ 3: เสาเหล็ก HSS ดีอย่างไร วิธีการคำนวณกำลังรับน้ำหนัก (อ่าน คลิกเลย)

ตอนที่ 4: เปรียบเทียบกำลังรับน้ำหนักของเสาเหล็ก HSS และเสาคอนกรีต (อ่าน คลิกเลย)

ตอนที่ 5: การเปรียบเทียบราคางานก่อสร้างอาคารระหว่างการใช้เสาเหล็กและเสาคอนกรีต (อ่าน คลิกเลย)

PostConnex คืออะไร?

ต้องขออธิบายให้เข้าใจกันสักเล็กน้อยก่อนนะครับว่า PostConnex เป็นระบบข้อต่อ / จุดต่อ (connection) ระหว่างเสาเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง (Hollow Steel Section, HSS) และ พื้นคอนกรีตอัดแรง (post-tensioned slab) หรือจะเรียกง่ายๆ ให้เข้าใจ ก็น่าจะใช้คำว่านวัตกรรมจุดต่อสำหรับพื้นคอนกรีตอัดแรงกับเสาเหล็ก

ซึ่งบริเวณหัวเสา (จุดต่อตัวผู้) ได้มีการออกแบบจุดต่อเพื่อรองรับพื้นคอนกรีตอัดแรง พร้อมทั้งยังเป็นตัวนำร่องสำหรับการต่อเสาโครงสร้างสำหรับชั้นต่อไปด้วย โดยจะทำให้สามารถก่อนสร้างได้รวดเร็ว

ส่วนบริเวณโคนเสา (จุดต่อตัวเมีย) ก็จะมีการทำจุดต่อไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งจุดต่อชุดนี้เราจะเรียกว่า อุปกรณ์ยึดโคนเสา ที่จะมีหน้าที่ในการประคองเสา ในระหว่างขั้นตอนของการประกอบติดตั้ง และยังสามารถใช้ในการปรับระดับ และความตรงดิ่งของเสาได้อีกด้วย

องค์ประกอบของ PostConnex

องค์ประกอบหลักของ PostConnex จะมีด้วยกันอยู่ 5 อย่างด้วยกัน ดังนี้

  1. เสาเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง หรือ เสาเหล็ก HSS (Hollow Steel Section, HSS)
    • ด้านในมีการติดตั้งแผ่นไดอะแฟรม (diaphragm)
  2. จุดต่อตัวผู้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
    • แผ่นเหล็กปิดหัวเสา
    • ชุดแผ่นเหล็กนำร่อง
    • สลักเกลียวและน็อตสำหรับยึดและปรับระดับ
  3. จุดต่อตัวเมีย
    • รูเจาะแบบร่องยาว (slotted holes) ที่โคนเสาทั้ง 4 ด้าน
    • ชุดอุปกรณ์ยึดโคนเสาติดเข้ากับเสาเหล็ก HSS ทั้ง 4 ด้าน (ดังรูป)
องค์ประกอบของนวัตกรรมจุดต่อสำหรับพื้นคอนกรีตอัดแรงกับเสาเหล็ก
ลักษณะของการต่อเสา

การประกอบติดตั้ง (Erection)

ในขั้นตอนของการประกอบติดตั้งนั้น ทางทีมงานได้ออกแบบให้ระบบจุดต่อ มีความเหมาะสมสำหรับการติดตั้งที่หน้างานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งองค์ประกอบหลายๆ ส่วนนั้น ได้ถูกเตรียมพร้อมมาจากโรงงาน (fabrication shop) เรียบร้อยแล้ว ทำให้ขั้นตอนของการประกอบติดตั้งเสาสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ตามขั้นตอนด้านล่างนี้

  1. ประกอบเสาเหล็ก HSS ด้านบนและด้านล่างเข้าด้วยกัน
  2. ปรับระดับและความดิ่งของเสาต้นบน และทำการขันสลักเกลียวเพื่อทำการยึดให้แน่น
  3. เสริมความแข็งแรง สร้างความต่อเนื่อง และป้องกันการแตกร้าวระหว่างเสาเหล็กและพื้นคอนกรีตอัดแรงด้วยเหล็กเส้น

หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการหล่อพื้น

วิธีการประกอบติดตั้ง

ข้อดีของ PostConnex

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้นวัตกรรมระบบจุดต่ออาคารคอนกรีตอัดแรงเสาเหล็ก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวัสดุของเสาโครงสร้าง จากเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ไปเป็นเสาโครงสร้างเหล็ก HSS นั้น มีข้อดีหลักๆ อยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ

  1. ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง – เนื่องจากการใช้เสาโครงสร้างเหล็กที่มาพร้อมด้วยระบบจุดต่อที่อำนวยให้การประกอบติดตั้งทำได้ง่าย อีกทั้งยังได้มีการเตรียมชิ้นงานต่างๆ จากโรงงาน (prefabrication) จึงทำให้ขั้นตอนของการประกอบติดตั้งที่หน้างานสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
  2. ลดต้นทุนค่าแรงงานก่อสร้าง – ด้วยประโยชน์ของการใช้เสาโครงสร้างเหล็ก ที่มีน้ำหนักเบากว่าเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้สามารถลดจำนวนแรงงาน และขนาดของเครื่องจักรได้ อีกทั้งการเตรียมชิ้นงานมาจากโรงงาน ทำให้สามารถลดขั้นตอนงานติดตั้ง เช่น งานเชื่อม ที่อาจส่งผลต่อ
  3. เพิ่มพื้นที่ใช้สอย – ด้วยความสามารถในการรับน้ำหนักต่อพื้นที่หน้าตัดของเสาเหล็กที่สูงกว่าเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงทำให้สามารถใช้เสาที่มีขนาดที่เล็กลง ช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับอาคาร พร้อมทั้งให้ทัศนียภาพที่ดีกว่ากับผู้ใช้อาคาร
ผนังเรียบไร้รอยเสา
ผลกำไรจากการได้พื้นที่เพิ่ม

นวัตกรรมตัวนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการศึกษา และกำลังจะทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการเร็วๆ นี้ครับ ในโพสต์ต่อๆ ไป จะนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น มาให้ทุกท่านได้ทราบกัน

หากท่านใดสนใจ อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อเข้ามาทาง

inbox: We Love Steel Construction (คลิกเลย)





Spread the love