
แนวโน้มราคาเหล็ก
แนวโน้มราคาเหล็ก ในประเทศ เฉลี่ยแต่ละเดือน 10 เดือนที่ผ่านมา
อ้างอิงข้อมูล แนวโน้มราคาเหล็ก จาก บจก. KTM Steel


ขออนุญาตนำข้อมูลที่ distributor รายหนึ่งรวบรวมราคาขายของเขา มาเรียนให้ท่านวิศวกรและผู้รับเหมาได้รับทราบพอเป็นข้อมูลนะครับ
เอาว่า ส่วนใหญ่แล้ว ราคาเหล็กมันร้อนแรงกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อน “ความเสี่ยง” ในการซื้อขาย ในการกักตุนเก็งกำไร ในการขายแล้วขาดทุนกำไร (ขายหมู) 10 เดือนที่ผ่านมา ราคาขี้นไป 60% – 90% ขึ้นกับประเภทของเหล็ก
ถามว่าทำไมบางตัวขึ้นมากบางตัวขึ้นน้อย คำตอบเหมือนเดิมเลยคือ demand – supply ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสินค้าเหล็ก คือ “วัตถุดิบ” ครับ วัตถุดิบในการผลิตสินค้าแต่ละชนิดนั้น วิ่งเร็ว-ช้า ไม่เท่ากัน แต่ก็มีอีกอย่างน้อย 2 เหตุผล
เหตุผลแรกคือ ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่หักต้นทุนวัตถุดิบออก เช่น ค่าพลังงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ค่าแรงพนักงาน ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นกับ utilization rate หรือ อัตราการใช้ประโยชน์ของกำลังการผลิตทั้งหมด อันนี้ต้องยอมรับว่า แต่ละโรงงานผู้ผลิตนั้น “ความเก่ง” ในการจัดการไม่เท่ากัน บางรายสามารถดัน utilization ให้สูงระดับ 70-80% ได้ แต่โดยส่วนใหญ่โรงงานในประเทศไทยจะมี utilization เพียง 40% ด้วยเหตุผลที่มีสินค้านำเข้าที่ราคาถูกมากๆ เข้ามาแย่งตลาดจนไม่สามารถแข่งขันได้ (ถ้าจำได้นะครับ จีน … มีการสนับสนุน (1) ค่าพลังงาน ในการผลิต ในฐานะที่โรงเหล็กในจีนเป็น state enterprise และ (2) เงินส่งเสริมการส่งออก export tax rebate อีก 9-13% ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งนะครับ แต่เขามีตัวช่วยเยอะกว่าจริงๆ) และในปัจจุบัน แม้ว่าสินค้านำเข้าจะหาได้ยากมาก เพราะของ (เหล็ก) มันหายไปจากตลาดโลกอย่างน่าตกใจ ปัญหานี้หนักมากคือ ไม่มีของมาผลิต เพื่อจำหน่าย utilization ถึงไม่กระเตื้องขึ้นเลย
เหตุผลที่อีกประการ คือ market mechanism ในประเทศไทย ซึ่งเหล็กแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน เช่น

– เหล็กเส้น กำลังการผลิตในประเทศ ตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย มีกำลังการผลิตราว 11 ล้านตัน (MT) แต่ไม่นับรวมโรงงานของบริษัท ซินเคอหยวน และ หยงซิน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกลุ่มทุนชาวจีนมาลงทุนผลิตในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ให้ข้อมูลแก่สมาคม (อีกราว 4 MT โดยประมาณ) ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นของบ้านเรามีเพียง 5 MT ซึ่งทำให้ เหล็กเส้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแข่งขันสูงมากๆ บางท่านถึงกับกล่าวว่า เหล็กเส้นบ้านเราถูกที่สุดในโลกแล้ว

– เหล็กรูปพรรณรีดร้อน อันนี้แทบจะตรงกันข้าม กล่าวคือในประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็ก H beam หรือ Sheet pile เพียงรายเดียว คือ SYS ดังนั้นการค้าการขายเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงค่อนข้างจะ monopoly ผู้ผลิตสามารถดันราคาขายได้สูงกว่าเหล็กประเภทอื่น ส่งผลให้ราคา H-beam เมื่อ 10 เดือนก่อน อยู่ในระดับที่สูง และในปัจจุบัน ก็สูงขึ้นเพียงราว 20% เพราะยังมีกำไรอยู่ (แต่ดันราคาสูงกว่านี้ไม่ไหว เพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อ) แต่ก็แน่นอนว่า profit margin นั้นย่อมลดน้อยลง

– เหล็กท่อ เหล็กรูปตัวซี เหล็กแผ่น มีผู้ผลิตพอประมาณ แข่งขันพอประมาณ ไม่ครองตลาดโดยผู้ประกอบการรผลิตรายเดียวเหมือนเหล็กรูปพรรณรีดร้อน แต่ก็ไม่แข่งขันสูงมากเหมือนเหล็กเส้น
ทั้งหมดนี้ ต้องอย่าลืมประเด็นสำคัญนะครับ ราคาขายในใจของผู้ผลิต กับ ราคาขายในใจของผู้รับเหมา มันอยู่คนละมิติกัน ราคาที่เห็นเป็นราคาขายส่ง จ่ายสด แน่นอนว่า ราคาที่ผู้รับเหมาจะซื้อเครดิตอาจต้องสูงขึ้นกว่านี้ และทำนองเดียวกัน ราคาที่บริษัทนี้ซื้อมาจากผู้ผลิตย่อมต่ำกว่านี้พอสมควร ไม่ใช่ด้วยเหตุผลด้านกำไรเท่านั้น แต่เป็นเหตุผลด้าน financing คือจ่ายเงินซื้อวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตล่วงหน้า และเหตุผลด้านการ take risk ในการจัดการสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
ซึ่งต้องยอมรับว่า เหล็ก เป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างจะเสี่ยงสูงในเวลานี้ หากพิจารณาจาก trend ราคาที่ผ่านมาครับ