Bridge (สะพาน)
สะพานโครงสร้างเหล็ก (steel bridges) เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Pawit Sorthananusak
Tags :
ด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านงานโครงสร้างเหล็ก รวมไปถึงงาน สะพานโครงสร้างเหล็ก จากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552
โดยในส่วนของงานสะพานโครงสร้างเหล็ก ก็ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่ นโยบายด้านการบริหารจัดการ ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ ขั้นตอนการออกแบบ การผลิตและการแปรรูป การประกอบติดตั้ง การตรวจสอบควบคุมคุณภาพ การบำรุงรักษา ไปจนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับงานสะพานเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว
บทความนี้ได้ถูกจัดทำขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานราชการ วิศวกร และผู้ก่อสร้าง เพื่อให้วัตถุประสงค์ของโครงการ JTEPA สัมฤทธิ์ผลอย่างสูงที่สุดต่อไป
ข้อมูลจาก Highway Statistical Yearbook (Sugiura, 2012) ได้แสดงให้เห็นถึงปริมาณสะพานของประเทศญี่ปุ่น ว่ามีจำนวนราว 140,000 (ช่วง) สะพาน สำหรับ ช่วงสะพานที่ยาวเกินกว่า 15 เมตร จำแนกเป็น สะพานที่ดูแลโดยเทศบาลท้องถิ่น ราว 81,000 (ช่วง) สะพาน (หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 58%)
สะพานที่ดูแลโดยหน่วยงานทางหลวงท้องถิ่น ราว 31,000 (ช่วง) สะพาน (22%) สะพานที่ดูแลโดยหน่วยงานทางหลวงส่วนกลาง ราว 22,000 (ช่วง) สะพาน (16%) และสะพานที่ดูแลโดยหน่วยงานทางด่วน ราว 6,000 (ช่วง) สะพาน (4%)
โดยจากข้อมูลงานก่อสร้างสะพานในปี 2004 ได้แสดงให้เห็นว่า มีสะพานกว่า 61,000 (ช่วง) สะพาน (47%) ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วเกินกว่า 30 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่น มีสะพานกว่า 61,000 (ช่วง) สะพาน ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วเกินกว่า 40 ปี ดังรายละเอียดในรูปที่ 1
อย่างไรก็ตาม หากมองว่า การออกแบบสะพานนั้น กำหนดอายุการใช้งานไว้ที่ 50 ปี ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้แสดงให้เห็นว่า ในปี 2016 จะมีสะพานกว่า 20% ที่มีอายุเกินกว่า 50 ปี (สิ้นอายุการใช้งาน) และจะมีสะพานกว่า 47% จะมีอายุการใช้งานเกินกว่า 50 ปี (สิ้นอายุการใช้งาน) ในปี 2026 ดังรูปที่ 2 หรืออาจกล่าวได้ว่า “สะพานในประเทศญี่ปุ่นกำลังย่างเข้าสู่กลุ่มสะพานสูงวัยใกล้สิ้นอายุการใช้งาน”
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคก่อนประเทศญี่ปุ่นราว 30 ปี (ประเทศญี่ปุ่น เริ่มเติบโตในช่วง ทศวรรษที่ 1950)
ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1980 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผชิญกับปัญหาการเสื่อมสภาพของระบบสาธารณูปโภคอย่างกว้างขวางและรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานตามเส้นทางหลวง เช่น การพังถล่มของสะพาน Mianus Bridge ในปี 1983 เป็นต้น สะท้อนออกมาเป็นหนังสือ “America in Ruins: The Decaying Infrastructure (Choate and Walter, 1983)”
โดย บทเรียนที่เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานทางหลวงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรับผิดชอบโดย กระทรวงที่ดิน การสาธารณูปโภค การคมนาคม และการท่องเที่ยว (MLIT) ได้นำมาใช้เป็นแนวทางปรับกลยุทธ์หรือมาตรการในการบำรุงรักษา จากมาตรการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข (corrective maintenance) ไปสู่มาตรการการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenance)
ไม่เฉพาะการเลือกใช้ระบบการเคลือบป้องกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ระบบสีกันสนิมทั่วไป (general coating) การใช้ระบบสีกันสนิมแบบทนทานสูง (heavy duty coating) การใช้เหล็กทนการกัดกร่อน (weathering steel) การชุบสังกะสี (galvanizing) หรือ การพ่นสีเมทัลลิก (metallic spraying) เท่านั้น
แต่ยังครอบคลุมถึง การเพิ่มมาตรการการตรวจสอบสะพาน เช่น การตรวจสอบสภาพสะพานภายใน 2 ปี ภายหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดใช้งาน และการตรวจสอบสภาพสะพานเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุก 5 ปี (ปรับจาก 10 ปี)
โดยเน้นการตรวจสอบสภาพสะพานด้วยสายตา และการตรวจวัดความหนาของชิ้นส่วนองค์อาคารด้วยการใช้ ultrasonic (หรือเครื่องมืออื่น ๆ ตามสมควร) การบันทึกผลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ การบันทึกข้อมูลการซ่อมแซม และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อยืดอายุการใช้งานของสะพาน รวมไปจนถึงการนำระบบริหารจัดการ หรือ bridge maintenance system เข้ามาใช้ในงานสะพาน