ราคาเหล็กช่างร้อนแรงไม่หยุด
NEW NORMAL PRICE OF STEEL?

หลายท่านในวงการก่อสร้าง สอบถามมาพอสมควรว่า ทำไมราคาเหล็กมันขึ้นไม่หยุดแบบนี้? มีใครกักตุนเหล็กโก่งราคาเหล็กไหม? มันจะขึ้นไปถึงเมื่อไหร่? ควรจะรอให้ราคาเหล็กมันลงหน่อยดีไหม? มีทางใดทำให้ราคาเหล็กมันลดลงได้บ้าง? เรื่องนี้ยาวจริงๆ ครับ ต้องทำใจเป็นกลางนิด ดูเหตุดูปัจจัยกัน เริ่มจากหลักพื้นฐานก่อนเลย คือ เหล็ก เป็น commodity product ภาษาไทยเรียกว่า สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นสินค้าพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ เหมือน แป้ง น้ำตาล ข้าว น้ำมัน มนุษย์ในทีนี้เป็น global scale ทุกส่วนในโลกต้องบริโภค ดังนั้น ราคาของเหล็กจึงสะท้อน global demand & global supplyหรือ อีกนัยหนึ่ง ใครคุม global demand ได้ ก็มีโอกาสคุมราคาเหล็กได้ ใครคุม global supply ได้ ก็มีโอกาสคุมราคาเหล็กได้ … และจะมีใครที่ทำได้ นอกจาก “จีน”
ฝั่ง supply side ต้องบอกเลยว่า ชัดเจนมาก กำลังการผลิตเกินครึ่งของโลกใบนี้อยู่ที่จีน จีนเริ่มเปิดโรงเหล็กอย่างเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่สมัยแผน Olympic 2008 และ One belt one road มีความชัดเจน ซึ่งก็ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยปี 2000 ราวๆ นั้น การลงทุนเปิดโรงเหล็กในจีนเป็นแบบ state enterprise หรือ รัฐวิสาหกิจ มีรัฐมาถือหุ้น เพราะเหตุผลสำคัญเลยครับคือ รัฐบาลจีนมองว่า เหล็กเป็นความมั่นคงทางอุตสาหกรรมของประเทศ คล้ายๆ กับที่ไทยมองเรื่องน้ำมันกับความมั่นคงทางพลังงาน แต่น่าเสียดายที่ในประเทศไทยไม่ได้มองเหล็กเป็นความมั่นคง แต่เป็นการค้าการขายปกติไป ซึ่งด้วยความเห็น state enterprise นี้ ทำให้โรงผลิตเหล็กในจีน ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าเป็นเรทพิเศษ ต้นทุนทางพลังงานต่ำลงหลังจาก Beijin Olympic สิ้นสุด ซึ่งสะท้อนการแล้วเสร็จของสนามกีฬา ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ demand ในประเทศจีนเองก็ลดน้อยลง แต่กำลังการผลิตยังอยู่เช่นเดิม ตรงนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน จึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการส่งออกเหล็กประเภทต่างๆ ไปทั่วโลก เพื่อให้การผลิตเหล็กในจีนยังคง utilization ไว้ได้ในระดับสูง อันส่งผลต่อการรักษาระดับต้นทุนที่ต่ำเอาไว้
กลยุทธ์สำคัญที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ คือการส่งเสริมการส่งออก โดยการคืนภาษีกับทุกบาททุกหยวนที่ส่งออก ราว 9% – 13% ขึ้นกับประเภทของเหล็ก เรียกว่า Export tax rebate ซึ่งสะท้อนภาพของราคาเหล็กก่อนโควิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาเหล็กในประเทศตกต่ำมาก (บางท่านถึงกับบ่นว่าราคาเหล็กต่อกิโลกรัมถูกกว่า โครงกระดูกไก่) เหล็กเส้นอยู่ราว 13 – 18 บาท (ราคาขายไปยังยี่ปั๊ว ไม่ใช่ราคาที่ผู้รับเหมาซื้อนะครับ เดี๋ยวมีอธิบายความต่างต่อไป) โดยเศษเหล็กก็มีราคาราวครึ่งหนึ่งของราคาเหล็กเส้น หรือประมาณ 6-9 บาท วิ่งอยู่แถวๆ นี้ช่วง 2012 – 2018 เป็นช่วงที่จีน ออก dump ขายเหล็กอย่างมากไปทั่วโลก กลุ่มผู้ผลิตรายใดที่ไม่สามารถนำมาตรการทางการค้า เช่น Anti dumping (AD), Safeguard (SG) หรือ Anti Circumvention (AC) ก็ต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับราคาเหล็กที่ส่งออกจากประเทศจีนได้
ช่วงเวลานั้น ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างต้องการวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำ เจ้าของโครงการต้องการอาคารที่ไม่แพง ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กที่สามารถผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้า ก็มักจะเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้ใช้มาโดยตลอด (เป็นธรรมดาครับ เพราะมาตรการ AD SG AC มันทำให้ผู้ผลิตในประเทศยังเดินเครื่องผลิตอยู่ได้ เพราะไปป้องกันการลดราคากระน่ำ summer sale จากจีน แต่ก็ทำให้ราคาเหล็กที่ถูก “ทุ่มตลาด” ไม่สามารถเข้ามาประเทศไทยได้) ซึ่งจะพบเห็นเหล็กหลายประเภท จากหลายแหล่งของประเทศจีนถูก AD SG AC กันเอาไว้
ต้องเรียนว่าทั้ง AD SG AC นี้ เป็นมาตรการสากลที่ใช้กันทั่วโลก ตามหลักของ WTO (World Trade Organization) ประเทศไทยไม่ได้หยิบมาปฏิบัติประเทศเดียวนะครับ.มาถึงช่วงสำคัญ คือ ปลายปี 2019 ต่อต้นปี 2020 เกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่เราทุกคนรู้จักกันดีว่า COVID-19 จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด เกิดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ต้นปี 2020 จีนต้องออกมาตรการจัดการอย่างเข้มข้น ปิดเมืองปิดประเทศ ซึ่งโรงผลิตเหล็กก็หนีไม่พ้น โรงงานเหล็กหลายโรงต้องลดกำลังการผลิด หลายโรงต้องปิดโรงงานชั่วคราว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ world supply มาเติมใน inventory หรือ สต๊อกในโกดัง ลดน้อยลงมาก ใช้เหล็กเก่าที่ผลิตเก็บไว้ ราคาเหล็กลดต่ำลงอย่างน่ากลัวในช่วง Q2/2020 ไม่มีนักวิเคราะห์รายใดมองเห็นแสงสว่าง มองถึงการล่มสลายทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วง Q4/2020 สัญญาณราคาเหล็กกลับพุ่งทยานขึ้นอีกครั้ง เหตุผลสำคัญคือ ความเชื่อมั่นในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจจากหลายประเทศ ความหวังจากวัคซีนเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และลำดับในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นย่อมเริ่มจากการให้คนมีงานทำ มีกำลังจับจ่ายใช้สอย ซึ่งแน่นอนว่างานก่อสร้างโครงการภาครัฐจะเป็นกลไกหลักลำดับแรกๆ (เพราะเอกชนก็เจ็บหนัก ต้องให้รัฐช่วยขับเคลื่อน) ซึ่งเป็นแบบเดียวกันทุกประเทศ เกิด Flash demand ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นดอกเห็ด ในระดับ global scale ในขณะที่ฝั่ง supply นั้นกลับฟื้นตามไม่ทัน
สาเหตุที่ฝั่ง supply ฟื้นตัวตามไม่ทันนั้น มาจากหลายปัจจัย เริ่มต้นที่จีนก่อนครับ จีนเมื่อกำหนดทิศทางเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ก็ ยกเลิกมาตรการสนับสนุนการส่งออก Export tax rebate ที่เคยได้รับ ก็ถูกยกเลิกไปในช่วงเดือนเมษายน 2022 นอกจากนั้นแล้ว ด้วยจีนเองมองตัวเองว่า “I’m no longer a sick man of Asia.” ดังนั้นจีนจึงหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ด้วยการ ระงับการเดินสายการผลิตของโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์สิ่งแวดล้อม (ถ้าในบ้านเราก็ไม่ผ่าน EIA) ยังไม่นับรวมประเด็นพิพาทระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่า “เหล็ก” เป็นวัตถุดิบสำหรับ military facility & infrastructure ตลอดจนการนำไปใช้ผลิตอาวุธยุทธภัฑณ์ต่างๆ ประกอบกับ ประเทศที่ป้อนอุปทานลำดับที่ 2 ของโลก อย่าง อินเดีย ก็ประสบปัญหา COVID-19 ในประเทศอย่างรุนแรง โรงงานหลายโรงไม่สามารถเดินหน้าการผลิตได้ oxygen ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตเหล็กต้นน้ำ ก็ต้องมา supply ให้กับการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศและนั่น คือ สาเหตุว่าทำไม global supply มันตามมาไม่ทัน global flash demand
มาดูในประเทศไทยของเราครับ ประเทศเราไม่มีโรงถลุง ดังนั้นจึงต้องพึงพิงวัตถุดิบอยู่ 2 ประเภท คือ (1) เศษเหล็ก หรือ scrap เพื่อนำมาหลอมและนำเหล็กหลอมเหลวไปรีดเป็นเส้น และ (2) เหล็กแท่งเล็ก หรือ billet ซึ่งอาจได้จากการหลอม scrap ออกมา โดยผู้หลอมเหล็กในประเทศ หรือ สั่ง billet มาจากต่างประเทศ
ตรงนี้พยายามสื่อว่า ราคาเหล็กในประเทศ ก็สะท้อน ต้นทุนประเภทต่างๆ คือ ต้นทุนวัตถุดิบ ราว 70-80% ต้นทุนค่าพลังงานและวัสดุสิ้นเปลือง ราว 10-15% และต้นทุนค่าแรงและบริหารจัดการ ราว 10% ซึ่ง แน่นอนว่าขึ้นกับต้นทุนวัตถุดิบเป็นหลัก และต้นทุนวัตถุดิบก็สะท้อน ราคาในตลาดโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งไม่มีใคร (นอกจากจีน) ที่จะสามารถกำหนดราคาเหล็ก (วัตถุดิบ หรือ finished product) ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เลย นอกจากกลไก demand – supply (หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้เดียวที่เป็นเจ้ามือวงนี้ได้ หรือ จีน เท่านั้น)
ลำดับท้ายสุดที่วิศวกร หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องเข้าใจพื้นฐานให้ดี คือ กรอบในการซื้อขาย ที่เป็นหลักปฏิบัติในประเทศเรา (หลักนี้ย่อมไม่เหมือนกันในทุกประเทศนะครับ แต่บ้านเราเป็นแบบนี้)
ในมุมของผู้ซื้อที่เป็น โรงงานแปรรูป หรือ ยี่ปั๊วซาปั๊ว และผู้ขายที่เป็น โรงผลิตเหล็ก นั้น ด้วยการผลิตเหล็ก มีต้นทุนหลักคือ วัตถุดิบ (ราว 70-80%) และด้วยผู้ผลิตในประเทศ ที่มีศักยภาพลดลงไปมากในช่วง 2012 – 2018 จากการที่โดนจีนทุ่มตลาดมาอย่างหนัก ทำให้กระแสเงินสดในมือไม่สูงมาก การสั่งซื้อเหล็กจากลูกค้ารายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานแปรรูป หรือ ยี่ปั๊วซาปั๊ว ก็มักจะกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยผู้ซื้อ ที่เป็น โรงงานแปรรูป หรือ ยี่ปั๊วซาปั๊ว ก็มักจะต้องซื้อวัตถุดิบให้กับผู้ผลิต มาดำเนินการผลิตเพื่อส่งของให้กับตน ตรงนี้เมื่อสั่งซื้อวัตถุดิบไป อาจใช้เวลาหลักเดือน ในการส่งวัตถุดิบมาถึงโรงงาน และใช้เวลาอีกหลักสัปดาห์ในการดำเนินการผลิตตาม order
หรืออาจกล่าวได้ว่า ยี่ปั๊วในบ้านเรา ทำหน้าที่ finance วัตถุดิบให้ผู้ผลิต และยังต้องรอ finished product ส่งเข้ามายังโกดังสต๊อก ซึ่งอาจกินเวลา 2-3 เดือน
สำหรับผู้ซื้อที่เป็น ผู้รับเหมา และผู้ขายที่เป็น ยี่ปั๊วซาปั๊ว นั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้รับเหมาเมื่อได้รับงานโครงการมา ก็จะขอเบิกเงินค่างวดสำหรับการซื้อวัสดุและเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ เงินงวดแรกส่วนมากนำไปหมุนในกิจกรรมอื่นก่อนที่จะนำไปซื้อวัสดุก่อสร้าง (แต่อาจมีบางส่วนนำไปซื้อวัสดุก่อสร้างนะครับ แต่ไม่ทั้งหมดตามที่เสนอเจ้าของงานไป อันนี้เป็นปกติ) การซื้อวัสดุก็มักจะซื้อในรูปแบบ “เครดิต” ขอของมาใช้ก่อน ยี่ปั๊ว วางบิล มาเก็บในภายหลังอีก 1 เดือน หรือบางครั้งโดนดึง ก็อาจใช้ 2-3 เดือน
ตรงนี้อยากให้เห็นครับว่า ราคาเหล็ก ที่ผู้ผลิตรับรู้ เป็นราคาในใจของผู้ผลิตนั้น มันเป็นราคาที่ต่ำว่า ราคาเหล็กที่ผู้รับเหมา หรือ เจ้าของงาน เช่น หน่วยงานภาครัฐ หรือ กรมบัญชีกลาง รับรู้ เพราะต้นทุนมันอยู่คนละระนาบ ราคาขายของผู้ผลิต เป็นราคาที่ผู้ซื้อ “ออกเงินค่าวัตถุดิบให้ก่อนล่วงหน้า” ที่จะผลิต แต่ราคาที่ผู้รับเหมาซื้อ เป็นราคาที่ผู้รับเหมา “ขอเครดิต รับของมาก่อนค่อยจ่ายภายหลัง” มันมี financing cost และ inventory cost ซ่อนอยู่พร้อมกับ กำไร และความเสี่ยงต่อความผันผวนด้านราคาที่ ยี่ปั๊วซาปั๊ว จะต้องรับไป
หวังว่าทั้งหมดนี้จะทำให้ท่านได้เห็นภาพรวมปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาเหล็กนะครับ.ส่วนคำถามว่า เหล็กจะมีแนวโน้มลงเมื่อไหร่ คำตอบคือ ไม่มีใครทราบจริงๆ ขึ้นกับหลัก demand – supply ล้วนๆ ทราบมาจากทาง Worldsteel ว่า ประเทศใน EU จะ “เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อมาป้อนตลาดใน EU ของตน” ตรงนี้อาจช่วยชะลอความร้อนแรงด้าน short supply ลงได้บ้าง แต่เชื่อว่าไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไหร่จะลง จะไปสูงสุดเมื่อไหร่ แต่เท่าที่ฟังจากคนในวงการเหล็ก หลายท่านยังคาดว่าราคาเหล็ก ณ จุดนี้ ไปจนถึงปลายปี ยังไม่น่าจะต่ำไปกว่าราคาช่วงนี้ บางท่านถึงกับบอกว่า จงลืมราคาในอดีต และรับราคาปัจจุบันที่อาจเป็น New normal ไปแล้วก็เป็นได้