Pre-Engineered Building (PEB)
ภาพรวม แนวปฏิบัติเพื่อการออกแบบอาคารเหล็กสำเร็จรูป สำหรับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

ภาพรวม แนวปฏิบัติเพื่อการออกแบบอาคารเหล็กสำเร็จรูป สำหรับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

หลายท่านอาจจะได้เห็นผ่านตากันบ้างแล้วนะครับว่า ทางทีมงานกำลังจะมีการจัดงานสัมมนา SSI Steel Construction Virtual Forum ขึ้น และจะมีการแจก “ แนวปฏิบัติเพื่อการออกแบบอาคารเหล็กสำเร็จรูป สำหรับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า” ให้กับผู้สมัครเข้าร่วมงานทุกท่านเพื่อเป็นของสัมมนาคุณ นะครับ

ทีนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าภาพรวมของเนื้อหาในเล่มนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกันคร่าวๆ ก่อน ว่ามีเนื้อหาที่น่าจะเป็นประโยชน์อะไรบ้าง เผื่อว่าบางท่านอาจจะไม่ได้เข้าร่วมงาน ก็อาจจะไปซื้อจาก วสท. มาเก็บไว้อ่านเองก็ได้นะครับ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานคงจะมีวางจำหน่าย

ภาพรวมของแนวปฏิบัติเพื่อการออกแบบอาคารเหล็กสำเร็จรูปสำหรับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

เนื้อหาโดยรวม บทที่ 1

ในบทแรกเลย หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของการแนะนำ กฎหมาย มาตรฐาน และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ใช้ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กนะครับ เช่น
1. ข้อกำหนดที่เป็นกฎหมาย ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร เช่น กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ที่ว่าด้วยเรื่องของน้ำหนักบรรทุก และฉบับที่ 60 ที่เกี่ยวกับเรื่องของการกันไฟสำหรับอาคารทั้งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างเหล็ก
2. มาตรฐานจากกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) เช่น มาตรฐานการคานวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร (มยผ. 1311) และมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ. 1301/1302)
3. ข้อกาหนดและมาตรฐานด้านการออกแบบโครงสร้างเหล็ก
4. ข้อกาหนดสาหรับอาคารโครงสร้างเหล็ก และแนวทางการออกแบบจากสถาบันเหล็กก่อสร้างแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Institute of Steel Construction, AISC)
5. แนวทางการออกแบบจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศอเมริกา (AISI)
ซึ่งในรายละเอียดก็จะมีชื่อของข้อกำหนดหรือมาตรฐานนั้นๆ ไว้ให้นะครับ เพื่อที่ทุกท่านจะได้สามารถอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

กฎหมาย มาตรฐาน และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ของทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ต่อมาก็จะเป็นตารางรวมค่าประกอบความสำคัญ (importance factor) ตามลักษณะการใช้งานของอาคาร สำหรับการออกแบบแรงลมและแรงแผ่นดินไหว ซึ่งได้อ้างอิง มยผ. 1311-50 และ มยผ. 1301/1302-61 มานะครับ

ค่าประกอบความสำคัญ (importance factor) ตามลักษณะการใช้งานของอาคาร

ในส่วนต่อมาก็จะเป็นเรื่องของ น้ำหนักบรรทุกคงที่เพิ่มเติมที่ใช้โดยทั่วไป หรือที่เราเรียกกันอีกอย่างว่า collateral load, CL ว่าเราควรจะใช้ค่าน้ำหนักต่อตารางเมตรที่เท่าไหร่ดี สำหรับวัสดุบางประเภท เช่น ฝ้าเพดาน ระบบแสงสว่าง หรือระบบฉีดน้ำ เป็นต้น

น้ำหนักบรรทุกคงที่เพิ่มเติมที่ใช้โดยทั่วไป หรือ collateral load, CL

เนื้อหาโดยรวมบทที่ 2

ในบทนี้จะเป็นเรื่องของ Serviceability หรือความสามารถในการใช้งานได้ดี นะครับ ก็ต้องขอทำความเข้าใจกับทุกท่านอีกรอบนึงก่อนว่า เรื่องของการออกแบบให้อาคารมีความสามารถในการใช้งานได้ดี (serviceability) นี้ มันจะแตกต่างกับเรื่องของการออกแบบเพื่อความแข็งแรงที่เป็นการออกแบบด้าน strength

การออกแบบให้อาคารมีความแข็งแรงคงทน ไม่เกิดการพังทลายลงมาเนื่องจาก น้ำหนักที่อาคารต้องบรรทุก (ทั้ง dead load และ live load) แรงลม และแรงแผ่นดินไหว ตรงนี้จะเป็นการออกแบบด้าน strength ซึ่ง load combination สำหรับใช้ในการออกแบบ ก็เรียกได้ว่าจะมีความ rigid เนื่องจากเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ใช้งานอาคาร ทำให้เรื่องของ load ต่างๆ นี้จะมีระบุอยู่ในกฎหมายด้วย เช่น ในกฎกระทรวงฉบับที่ 6

ส่วนการออกแบบด้าน serviceability นี้ ในประเทศไทยเราไม่ได้มีการระบุไว้เป็นมาตรฐานหรือข้อกำหนดใดๆ นะครับ เช่น การแอ่นตัวของคาน การแอ่นตัวของเสาโครงสร้างเมื่อต้องรับแรงทางด้านข้าง ไม่ควรเกิดการแอ่นตัวเกิดค่าเท่าไหร่ ซึ่งการแอ่นตัวที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้ทำให้อาคารเกิดการพังทลาย หรือวิบัติ นะครับ แต่มันทำให้ผู้อยู่อาศัยอาจจะอยู่ไม่สบาย หรือมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากภาพที่เห็นนั่นเองครับ

โดยค่าที่เป็น limit ด้านการแอ่นตัวที่เราน่าจะคุ้นเคยและผ่านตากันมาบ่อยๆ ก็จะเป็น L/360 และ L/240 ซึ่งเป็นการบอกว่า คานรองรับพื้น จะต้องแอ่นตัวไม่เกินค่าเท่านี้ หากพิจารณาเพียง live load หรือ total load (DL + LL) เป็นต้นนะครับ

แต่ใน แนวปฏิบัติ เล่มนี้ จะอ้างอิงค่าการแอ่นตัวที่เหมาะสม สำหรับการนำไปใช้ในการออกแบบอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป โดยเฉพาะกับอาคารที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานสำหรับเก็บของเป็นหลักและไม่ได้มีผู้ใช้อาคารมาก ก็จะมีค่าการแอ่นตัวที่ลดหย่อนลงมาค่อนข้างเยอะพอสมควรครับ ทั้งสำหรับเสาโครงสร้างและคาน (ที่เป็น rafter)

Serviceability หรือความสามารถในการใช้งานได้ดี

เนื้อหาโดยรวม บทที่ 3

เป็นเรื่องของ หลักปฏิบัติทั่วไปในอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการพูดถึงเรื่อง คำจำกัดความของผู้ที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น ผู้แปรรูป (fabricator) ผู้รับเหมา (contractor) ผู้ผลิต (manufacturer) ผู้ติดตั้ง (erector) เป็นต้น อีกทั้งยังพูดถึงแนวทางในการระบุความรับผิดชอบของแต่ละ party ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง แนวทางสำหรับการแรรูปเหล็ก code ที่ใช้ในการอ้างอิงงานเชื่อม การเชื่อมด้านเดียว (one-sided weld) และการทำสี ที่อ้างอิงมาตรฐานของประเทศไทย มยผ. 1333 รวมไปถึงการทาเครื่องหมายและการระบุชิ้นส่วน และการจัดส่งและการรับสินค้า เป็นต้น

หลักปฏิบัติทั่วไปในอุตสาหกรรม

เนื้อหาโดยรวม ภาคผนวก ก ข และ ค

สำหรับในภาคผนวก ก นี้ จะเป็นเรื่องของการจัดทำข้อกำหนดด้านแนวปฏิบัติเชิงสมรรถนะ หรือ specifications ต่างๆ ที่ต้องระบุลงในแบบสำหรับการก่อสร้าง นั่นเองครับ ในแนวทางฯ เล่มนี้ ก็จะเป็นการเตรียม master spec ไว้ให้กับทุกท่าน เพื่อนำไปใช้งานต่อ ยกตัวอย่างเช่น

ข้อกำหนดด้าน ส่วนประกอบของระบบอาคารโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป
1. รูปแบบของระบบโครงสร้างหลัก [โครงข้อแข็งไร้เสากลาง] [โครงข้อแข็งประกอบที่ถูกรองรับด้วยเสายาวปานกลาง] [ระบบโครงข้อหมุน] [ อื่น ๆ โปรดระบุ ]
2. [ อื่น ๆ โปรดระบุ ] เมตร ระยะจากพื้นล่างถึงใต้ท้องคาน [ อื่น ๆ โปรดระบุ ] เมตร ความลึกของหน้าตัดเสาที่อยู่รอบนอก
3. ความกว้างระหว่างช่วงของโครงสร้างหลัก [ โปรดระบุ ] เมตร [ตามที่แสดงในแบบก่อสร้าง]
4. ความชันของหลังคา: [1.5 องศา] [3 องศา] [5 องศา] [10 องศา] [20 องศา] [ อื่น ๆ โปรดระบุ องศา ]

เพื่อให้ท่านสามารถนำไปใช้งานได้อย่างสะดวก เพียงแค่เปลี่ยนตัวเลขหรือข้อความในวงเล็บ [ ] เท่านั้น

ส่วนในภาคผนวก ข. และ ค. จะเป็นตัวอย่างการคำนวณแรงลมและแรงแผ่นดินไหว ที่กระทำเข้ากับตัวอาคารที่ใช้เป็นอาคารโกดังเก็บของนะครับ

ประมาณนี้นะครับ สำหรับท่านใดที่สนใจจะรับแนวทางฯ เล่มนี้ อย่างที่เรียนให้ทราบครับ คือ สมัครเข้าร่วมงานสัมมนา SSI Steel Construction Virtual Forum 2021 หรือ ซื้อตรงกับทาง วสท. ได้เลยนะครับ





Spread the love

1 thought on “ภาพรวม แนวปฏิบัติเพื่อการออกแบบอาคารเหล็กสำเร็จรูป สำหรับอาคารโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

Comments are closed.