Structural Collapse (การวิบัติของโครงสร้าง)
การวิบัติของอุปกรณ์ยกติดตั้ง Segmental concrete
จากเหตุการณ์ การวิบัติของอุปกรณ์ยกติดตั้ง Segmental concrete บนถนนพระราม 2 วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนครับว่า ระบบโครงสร้างทางยกระดับ เป็นระบบ External Post-tensioned + Precast segmental concrete คือ
Precast segmental concrete คือ แท่งคอนกรีตที่หล่อสำเร็จมาจากโรงงาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีปีกยื่นไปทั้งสองด้าน โดยในระหว่างผิวสัมผัสของแต่ละ segment จะมีการทำร่องบาก เรียกว่า shear key เพื่อให้ segment แต่ละ segment “เข้าร่อง” กันได้พอดีเมื่อติดตั้ง External Post-tensioned คือ จะนำมาดึงลวดอัดแรง ภายนอกแท่งคอนกรีต “ภายหลัง” จากที่ Segment ถูกนำมาเรียงเข้าด้วยกันจากท่อนซ้ายสุดของ span ไปยังท่อนขวามสุดของ span เพื่อให้แต่ละ segment ประสานเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว วางพาดระหว่างตอม่อถึงตอม่อได้อย่างปลอดภัย ตามระดับน้ำหนักบรรทุกที่ได้ออกแบบไว้ตามหลักวิศวกรรม
การติดตั้ง ถือเป็นประเด็นสำคัญ กล่าวคือ segment แต่ละ segment จะถูกผลิตมาจากโรงงาน และขนส่งมายัง site งานก่อสร้าง โดยบริหารจัดการให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการติดตั้ง เริ่มกระบวนการจากการติดตั้ง โครงเหล็กทีมีลักษณะเหมือนเครน ที่ถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่จากตอม่อหนึ่งไปอีกตอม่อหนึ่ง ที่เรียกว่า Overhead Launching Gantry (จากรูป มีสีแดง) โดย Gantry นี้ จะอยู่ในตำแหน่งช่วง span ที่ต้องการจะยก Segment เพื่อทำการดึงลวด
เมื่อได้เวลา … จะทำการลดระดับ sling ที่มักมี PT bar (Pretension bar) เป็นส่วนประกอบ (จากรูปมี 4 ชุดต่อ 1 Segment) เพราะมีกำลังรับแรงดึงที่สูงมาก นำไปยึดกับจุดต่อที่หล่อมาพร้อมกับ Segment ที่ถูกขนส่งมายังหน้างาน วาง ณ ตำแหน่งใต้จุดจับยึด จากนั้นจึงทำการดึงไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับทางยกระดับ ก่อนจะ slide ไปทางด้านซ้าย/ขวา ให้ได้ตำแหน่งตามที่ออกแบบไว้สำหรับการร้อยลวดอัดแรงภายนอก จนกระทั่งยก Segment จนครบจำนวน ก็ทำการดึงลวดอัดแรงให้ได้แรงดึงตามที่ออกแบบ ณ จุดนี้ โครงสร้างจะมีพฤติกรรมเสมือนเป็นคานช่วงเดี่ยว ก็สามารถลดระดับ Segment ทั้งหมด วางลงบนตอม่อที่มีแผ่นรอง bearing pad ติดตั้งอยู่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์จึงทำการ launch ตัว Gantry นี้ไปยังช่วงสะพานที่อยู่ถัดไป
นึกภาพเรามีหนังสือ 10 เล่ม ถือไว้ในมือ 10 เล่ม หรืออาจพลิก 90 องศา แต่เราต้องอัดแรงเข้าไปที่หนังสือไม่ให้แต่ละเล่มมันหลุดหล่นออกมาครับ
ขอเรียนว่า “เรามีสมมติฐานตามรูปที่เห็นนะครับ” คือไม่เป็นการยืนยันตามหลักวิศวกรรมว่าจะเป็นเช่นนี้หรือไม่ … แต่แนวโน้ม การวิบัติน่าจะมาจากการขาดที่ PT bar “เส้นใดเส้นหนึ่ง” ก่อน สาเหตุเพราะอะไรอาจไม่ทราบแน่ชัด อาจเป็นเพราะมีการใช้ซ้ำจำนวนหลายครั้ง จนเกิดการล้า (fatigue) แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อย เพราะจำนวนรอบ (frequency) ที่นำมาใช้ซ้ำ และการขยับเปลี่ยนทิศทางแรง ต้องมีจำนวนสูงมากๆ หรืออาจเป็นไปได้ว่า การจัดเก็บ ขนย้าย และติดตั้ง อาจส่งผลต่อ “สภาพ” integrity โดยรวม เช่น อาจมีรอยบิ่น ซึ่งหากเป็นรอยบิ่นที่มีลักษณะแหลมๆ ก็อาจทำให้ PT bar เกิดการฉีกขาด (fracture) ได้ง่าย
หาก zoom ลงไปที่แท่ง PT bar จะเห็นว่า ที่ failure plane มีลักษณะการวิบัติที่เป็นแบบ fracture อย่างเด่นชัด โดยเริ่มขาดจากด้านซ้ายไปทางด้านขวา
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงสมมติฐานเบื้องต้น จากข้อมูลพื้นฐานในการยกประกอบติดตั้ง และภาพที่ส่งผ่าน social media เท่านั้น ยังต้องรอผลการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ถึง ลำดับของการเกิดความเสียหาย การสัมภาษณ์พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ การเข้าสำรวจวัตถุพยานต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุปเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป
#การวิบัติของอุปกรณ์ยกติดตั้ง
#การวิบัติของอุปกรณ์ยกติดตั้ง
สำหรับช่องทางการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ และข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ เหล็กเพื่องานก่อสร้าง ของทางบริษัทฯ ยังมี Facebook Page และ Youtube Channel และ Line Officail Account ชื่อ “WeLoveSteelConstruction” นอกจากนี้ทาง บริษัทฯ ยังมีงานสัมมนาประจำปีที่มีเนื้อหาการบรรยายดี ๆ เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างด้วยเหล็ก รายละเอียดสามารถคลิกตามลิ้งค์ข้างล่างได้เลยครับ
#WeLoveSteelConstruction_Facebook
Metee Suwannason
Tags :